วันพุธที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ไอที-นวัตกรรม


"วสันต์ จาติกวณิช" กรุยทาง "ล็อกซเล่ย์" สู่อาเซียน

"การเตรียมตัวของเราคือ เตรียมให้เปลี่ยนได้ เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนเร็ว ดังนั้นเราต้องยืดหยุ่นให้ได้ กลุ่มไอทีเราก็โตขึ้นเยอะ ล็อกซเล่ย์ 72 ปี ผมอยู่ในกลุ่มไอซีทีมา 30 ปี ตั้งแต่ยุคขายพิมพ์ดีด เครื่องเจาะบัตร งานที่ทำก็มีบรรลุบ้าง ไม่บรรลุบ้างเป็นธรรมดา"
วสันต์ จาติกวณิช กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ล็อกซเล่ย์ ย้ำถึงหัวใจสำคัญของแผนธุรกิจไอซีทีในกลุ่มล็อกซเล่ย์ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาถึงวันนี้เป็นเวลาเกือบ 30 ปี

จากวิชั่นสู่ "มิชชั่น"
 วสันต์บอกว่า ทิศทางธุรกิจไอซีทีของล็อกซเล่ย์เริ่มกลายเป็น "มิชชั่นของทีม" มากกว่าจะแยกงานกันทำเป็นยูนิตชัดเจนเหมือนที่ผ่านมา เพราะการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เริ่มหลอมรวมกันมากขึ้น ยกตัวอย่างแม้ล็อกซเล่ย์จะเป็นผู้ติดตั้งโครงข่าย 3จี ทีโอที แต่บริษัทก็ยังมีทีมแยกทำเอ็มวีเอ็นโอ ซึ่งเป็นระดับของการให้บริการบนโครงข่ายที่ต้องทำงานร่วมกันในบางส่วน
 โดยช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา กลุ่มล็อกซเล่ย์ได้ดีลโครงการใหญ่ เช่น โครงการติดตั้งโครงข่าย 3จี ทีโอที เคเบิลใต้น้ำที่อ่าวไทยซึ่งเป็นงานที่ทำตามแผนปกติ ขณะเดียวกันก็ต้องเริ่มคิดแผนสำหรับธุรกิจในอนาคตควบคู่ไปด้วย เช่น ดิจิทัล ทีวี
 "งานปกติก็ไม่ต่างจากทุกปีคือ มีบริษัทล็อกซบิซ มีไอซีทีทำเทเลคอม ส่วนใหญ่เป็นโปรเจครัฐบาล และก็มีงานพิเศษที่เป็นมิชชั่นเพิ่มมากขึ้น เช่น เออีซีจะเปิด เราก็ต้องเตรียมตัว เพราะเราเป็น diversify conglomerate แต่ละยูนิตก็ต้องเตรียมตัวว่าจะทำอะไรบ้าง"
 อย่างไรก็ตาม วสันต์ยอมรับว่า การขยายธุรกิจด้านโทรคมนาคมเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาศึกษาตลาดมากกว่าธุรกิจเทรดดิ้ง เพราะความซับซ้อนของกฎระเบียบและนโยบายการทำตลาดที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ
เล็งขยายตลาดอาเซียนจีเอ็มเอส
 ทั้งนี้ กลุ่มล็อกซเล่ย์มีแผนจะขยายธุรกิจโทรคมนาคมที่ทำในไทย ไม่ว่าจะเป็นผู้ติดตั้งโครงข่ายไฟเบอร์ ออปติค, ดีพลอยเมนท์ เน็ตเวิร์ค สู่ตลาดในต่างประเทศ โดยเฉพาะพม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม (จีเอ็มเอส) เนื่องจากเออีซีคือ อาเซียนทั้งหมด แต่ล็อกซเล่ย์ไม่มีนโยบายบุกตลาดประเทศใหญ่และไกลจากไทย เช่น ฟิลิปปินส์ หรืออินโดนีเซีย ประกอบกับบริษัทไม่ได้มีเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าเหมือนกับประเทศ เช่น สิงคโปร์ ที่จะขยายตลาดเข้าไปในกลุ่มประเทศเหล่านั้นได้ดีกว่า
 นอกจากนี้บริษัทยังเป็นพาร์ทเนอร์กับธุรกิจในจีน เช่น หัวเว่ย และจีนก็เข้าไปทำธุรกิจในพม่ามากก็อาจจะมีบางงานที่ทำร่วมกันได้ โดยเฉพาะงานที่มีไซต์งานใกล้ไทย เช่น ทวาย
 ส่วนธุรกิจไอทียังเป็นช่วงของการศึกษาตลาดเช่นกัน เนื่องจากกฎระเบียบของแต่ละประเทศแตกต่างกัน เพราะส่วนใหญ่กลุ่มล็อกซเล่ย์จะเชี่ยวชาญในตลาดราชการ ดังนั้นบริษัทก็ต้องอาศัยเครือข่ายของภาครัฐด้วย เช่น ซอฟต์แวร์ที่กระทรวงการคลังใช้อาจจะนำไปเสนอให้หน่วยงานลักษณะเดียวกันของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศเปิดใหม่อย่างลาว พม่า ที่ต้องการระบบที่พัฒนาประเทศได้เร็ว
 "คำถามคือถ้ารัฐบาลไทยสนใจเข้าไปช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้าน ในเมื่อมีระบบของสรรพากรเป็น Success story ก็อาจจะนำไปเสนอให้กับประเทศใหม่ๆ เหล่านี้ใช้ได้ ส่วนเทเลคอมจะชัดเจนเร็วกว่า เพราะอย่างพม่าที่จะเปิดประเทศ สิ่งที่ต้องการคือการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานให้เร็วที่สุด เพราะตอนนี้ยังมีปัญหาเรื่องอินเทอร์เน็ตช้า ไฟดับบ่อย โทรศัพท์โทรได้บ้างไม่ได้บ้าง ฉะนั้นพม่าคงต้องเร่งแก้เรื่องเหล่านี้ก่อน ส่วนทางไอทีถ้าเราเข้าไปเร็วเกินไปอาจยังทำอะไรไม่ได้มาก"
ชี้โอกาส 3จี ทีโอที ชิงตลาด อย่างไรก็ตามในฐานะผู้ติดตั้งโครงข่าย 3จี ทีโอที เฟสแรกที่แม้ปัจจุบันจะล่าช้าจากแผนเดิม เพราะผลกระทบจากน้ำท่วมประกอบกับปัญหาการใช้เสาสัญญาณร่วม แต่ก็ยังถือว่าเป็นโครงการที่สร้างอนาคตให้แก่ทั้งผู้ติดตั้งและผู้ใช้งาน
 กระนั้น ผู้บริหารล็อกซเล่ย์มองว่า สำหรับโครงการ 3จี ทีโอที ถ้าอยู่แค่เฟส 1 อาจจะสู้ 3จีที่กำลังจะเปิดประมูลไม่ได้ เพราะ 1.มีไซต์อยู่แล้ว 2. ฐานลูกค้าก็มีอยู่แล้ว ฉะนั้นถ้าทีโอทีจะเอาจริงก็ต้องรีบขึ้นเฟสต่อไปเพื่อให้ไซต์ครอบคลุมการใช้งานมากขึ้น และสู้กับตลาดได้ แต่ขึ้นอยู่กับกระบวนการของรัฐบาล
 ส่วนเอ็มวีเอ็นโอก็ต้องรอนโยบายของทีโอที โดยบริษัทก็ยังพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพราะยังมีฐานลูกค้าที่ใช้ไอคูล เรียล 3จีสำหรับการใช้ดาต้าอยู่จำนวนหนึ่ง
 วสันต์ยอมรับว่า ไลเซ่น 3จีที่จะประมูลช่วงครึ่งปีหลังจะช่วยทำให้ภาพรวมอุตสาหกรรมไทยดีขึ้น โดยกลุ่มล็อกซเล่ย์ยังต้องเน้นในประเทศเป็นหลักก่อน เพราะต่างประเทศยังเป็นช่วงศึกษาตลาด
 ปัจจุบันกลุ่มไอทีของล็อกซเล่ย์มีสัดส่วนรายได้จากงานราชการราว 60-70% ส่วนโทรคมนาคมราว 80-90% จากโครงการใหญ่ๆ เช่น 3จี ทีโอที โครงการต่อสายไฟเบอร์ ออปติค เข้าโรงเรียน (เนดเน็ต) 9,600 โรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการและโครงการไฟเบอร์ ออปติคต่อลงทะเลของ บมจ.กสท โทรคมนาคม มูลค่า 2,700 ล้านบาท
แนะผู้กำกับดูแลทบทวนบทบาท วสันต์ ยังกล่าวถึง วิชั่นที่ต้องมองไปข้างหน้า เช่น เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่กำลังเข้ามาอย่างการเปิดประมูลไลเซ่นดิจิทัล ทีวี ว่า ต่อยอดจากธุรกิจระบบบรอดแคสต์เดิมที่มีอยู่ได้ แต่ยังอยู่ช่วงศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมทำตลาดและความชัดเจนจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่อาจเปิดช่องให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมได้หลายรูปแบบ เช่น เน็ตเวิร์ค โปรไวเดอร์ ผู้ผลิตคอนเทนท์ และไฟเบอร์ ทรานส์มิชชั่น
 "โอกาสในตลาดมากขึ้นทุกปี จะเห็นว่ารายได้ของบริษัทด้านเทเลคอมหลักๆ ในตลาดส่วนใหญ่ก็รายได้ขึ้นต่อเนื่อง เช่น สามารถ เอไอที ล็อกซเล่ย์ ซึ่งของเราก็เป็นไปตามที่คาด แต่ยังไม่เป็นไปตามที่หวัง เพราะบางยูนิตก็ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม แต่กลุ่มไอซีทีเราโดนน้อยในบางโครงการ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาคนเซ็นรับงาน ทำให้บางงานช้าไป แต่ไม่ได้หายไป"
 เขาระบุว่า นิยามของ "คอนเวอร์เจนซ์" ที่ทำให้เทคโนโลยีเริ่มหลอมรวมเข้าใกล้กัน ตัวผู้กำกับดูแลก็จำเป็นต้องมีความชัดเจนในนโยบายการกำกับดูแลอุตสาหกรรมให้เกิดความเท่าเทียมและเป็นธรรมกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเช่นกัน
 ทั้งนี้ประเด็นที่เห็นชัดอย่าง ดิจิทัลทีวี ที่แม้ยังไม่มีคำตอบชัดเจนแต่เป็นเทรนด์ที่ต้องไป เพราะต้นทุนการผลิตในอนาคตดิจิทัลจะต่ำกว่าระบบอนาล็อก และเริ่มมีทีวีที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้แพร่หลายมากขึ้น แต่คำถามที่ยังหาคำตอบไม่ได้คือ การควบคุมที่ยังไม่ชัดเจนระหว่าง "บรอดแคสต์" และ "โทรคมนาคม" ที่มีกฎระเบียบต่างกันในขณะที่เทคโนโลยีบางอย่างก็จำแนกไม่ได้ชัดเจนว่าเป็นฝั่งไหน
 "ในฐานะเอกชนเราก็ต้องมองว่าทางไหนมีช่องที่ทวนน้ำน้อยที่สุดเราก็ไปทางนั้น เช่น ค่าไลเซ่น พอเรียกว่าเป็น Regulator เหมือนเรียกฝ่ายค้านก็ต้องค้านตลอด ทำไมไม่เรียกว่าอีกฝ่ายหนึ่งก็ยังดี เหมือน Regulator หรือ Supervisor จะมองกว้างๆ กว่า จะทำอะไรก็ทำแต่ห้ามเอาเปรียบ แต่เป็นเรื่องที่เขียนกฎหมายมาช้านาน เพียงแต่มองว่ามันกำกับดูแลได้จริงหรือเปล่า เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วก็อยากให้ลองพิจารณาตรงนี้ด้วย" วสันต์ ว่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น